ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร เดือนมีนาคม 2567


         
1. ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร
      ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 120.92 ลดลง ร้อยละ 4.59 จากเดือนมีนาคม 2566
ซึ่งอยู่ที่ระดับ 126.74 เนื่องจากสินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดมีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา สับปะรด
ปาล์มน้ำมัน และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร และกระเทียม
      ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (ที่อยู่ระดับ 132.17) ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง ร้อยละ 8.52
โดยสินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง หอมแดง และไก่เนื้อ ขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญ
บางชนิดมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กระเทียม และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 
 
  

 
2. ดัชนีราคาสินค้าเกษตร
      ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา ณ เดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 166.94 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.40
จากเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 155.44
      เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (ที่อยู่ระดับ 164.01) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.78


  
 
2.1 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2566
•  สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น
    - ข้าวเปลือกเจ้า ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีอย่างต่อเนื่องจากผู้ประกอบการโรงสี
เพื่อส่งมอบให้กับคู่ค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
    - ยางพารา ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อย จากเกษตรกรหยุดกรีดในช่วงยางผลัดใบ
อีกทั้งปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ที่ส่งผลต่อคุณภาพของน้ำยาง ขณะที่ความต้องการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัว
ของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์
    - สับปะรด ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างต่อเนื่องจากโรงงานแปรรูป
ทำให้เกิดการแข่งขันราคารับซื้อ

•  สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง
    - สุกร ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเกินความต้องการ ขณะที่ภาวะการค้ายังคงทรงตัวและกำลังซื้อในประเทศค่อนข้างต่ำ

2.2 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
•  สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น
    - หอมแดง ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศ
จากการส่งเสริมการซื้อขายระหว่างกลุ่มเกษตรกรและเครือข่าย เช่น มีจุดซื้อขายที่สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น
    - ไก่เนื้อ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย จากที่เกษตรกรชะลอการเลี้ยงในช่วงก่อนหน้า
ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการส่งออกเพิ่มขึ้น

•  สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง
   - กุ้งขาวแวนนาไม ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศยังคงทรงตัว
ประกอบกับการส่งออกชะลอตัว จากคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าที่สำคัญลดลง



 
3. ดัชนีรายได้เกษตรกร
       ดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 201.86 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.47 จากเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 197.00
เป็นผลมาจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.40 ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.59






 4. สรุป

       ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตรในเดือนมีนาคม 2567 มีอัตราการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.59
ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.40 ส่งผลทำให้ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.47
เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566


ตารางแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร (%YoY)
  2565 2566 2567
Q1 Q2 Q3 Q4 Q1 Q2 Q3 Q4 Q1 มีนาคม
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร 2.23 6.48 -0.95 0.17 2.25 1.22 1.17 -0.95 -4.90 -4.59
ดัชนีราคาสินค้าเกษตร 4.46 10.03 20.09 12.93 -1.21 -5.26 -1.63 0.08 5.57 7.40
ดัชนีรายได้เกษตรกร 6.79 17.16 18.95 13.12 1.01 -4.10 -0.48 -0.88 0.39 2.47
  หมายเหตุ: %YoY คือ เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา                                                                             
  ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
  ** ข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2567

 


 
 
 
♦ ♦ ดาวน์โหลดเอกสาร ♦ ♦

  รายงานดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร

  
Infographic TH / EN
 


รายงานดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร จะเผยแพร่ภายในวันที่ 20 ของทุกเดือน ••