‘โกปี้บ้านโตน’ กาแฟโบราณเมืองสตูล สร้างกำไรกลุ่มวิสาหกิจ 120,000 บาท/ปี

ข่าวที่ 20/2564  วันที่ 5 มีนาคม 2564
โกปี้บ้านโตน’ กาแฟโบราณเมืองสตูล สร้างกำไรกลุ่มวิสาหกิจ 120,000 บาท/ปี
          นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท. 9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดสตูลนับเป็นแหล่งผลิตกาแฟโรบัสต้าที่สำคัญและมีชื่อเสียงของภาคใต้ตอนล่าง โดยปี 2564 (ข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล ณ 2 มีนาคม 2564) คาดว่า มีพื้นที่ปลูกประมาณ 341 ไร่ พบมากที่สุด ในอำเภอควนโดน รองลงมา อำเภอเมือง ควนกาหลง และมะนัง ตามลำดับ ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟสด รวมประมาณ 4,000 กิโลกรัม/ปี สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก
            สศท.9 ได้ศึกษาปริมาณความต้องการใช้กาแฟโรบัสต้าเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟโบราณของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดสตูล ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนการแปรรูปกาแฟพื้นเมืองบ้านโคกประดู่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรแม่บ้านนาข่าเหนือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกาแฟพื้นเมืองเกตรี วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสะพานเคียน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟโบราณชุมชนควนโดนใน และวิสาหกิจชุมชนบ้านโตนปาหนัน และกลุ่มเกษตรกร กลุ่มกาแฟพื้นเมืองบ้านบูโต๊ะมาตู พบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกร ทั้ง 7 กลุ่ม มีการใช้สารกาแฟปริมาณเฉลี่ย 594 กิโลกรัม/ปี/กลุ่ม โดยสารกาแฟส่วนใหญ่นำเข้าจากนอกจังหวัด เช่น จังหวัดนะนอง ชุมพร และกระบี่ ถึงร้อยละ 89 ในขณะที่ใช้สารกาแฟในจังหวัดเพียงร้อยละ 11 เนื่องจากพื้นที่ปลูกยังมีน้อย และบางส่วนกาแฟ ยังไม่ให้ผลผลิต จึงแสดงให้เห็นว่าผลผลิตยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้
            ซึ่งจากตัวอย่างของวิสาหกิจชุมชนบ้านโตนปาหนัน นับเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการผลิตกาแฟโบราณ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “โกปี้บ้านโตน” ซึ่งมีความสดใหม่อยู่ตลอด แสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม 39 ราย ซึ่งทางวิสาหกิจจะรับซื้อเมล็ดกาแฟสด และสารกาแฟจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิก และเกษตรกรทั่วไปภายในจังหวัด โดยจะเน้นเมล็ดกาแฟที่กะเทาะเปลือกออกหมด และสิ่งที่กลุ่มให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของเมล็ดกาแฟต้องไม่มีสีดำเกินครึ่งหนึ่งของเมล็ด ทั้งนี้ ผลผลิตของกลุ่มจะจำหน่ายในรูปแบบบรรจุภัณฑ์แบบซองมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 7.4 บาท/ซอง  (ค่าวัตถุดิบ ค่าซองบรรจุภัณฑ์ และค่าสติกเกอร์) โดยบรรจุซองละ 75 กรัม ราคาขายอยู่ที่ 20 บาท/ซอง คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 12.6 บาท/ซอง และแบบขวด มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 13.45 บาท/ขวด โดยบรรจุขวดละ 95 กรัม ราคาขายอยู่ที่ 35 บาท/ขวด คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 21.55 บาท/ขวด ซึ่งในแต่ละปีทางวิสาหกิจสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบซองประมาณ 5,000 ซอง และแบบขวดประมาณ 2,500 ขวด สร้างกำไร ให้กลุ่มประมาณ 120,000 บาท/ปี
            สำหรับสถานการณ์ด้านตลาดของวิสาหกิจ ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ร้อยละ 45 จำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง รองลงมาร้อยละ 23 จำหน่ายผ่านสมาชิกกลุ่มเพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้ผู้บริโภคทั้งในและนอกจังหวัด รองลงมาร้อยละ 15 วางจำหน่ายที่วิสาหกิจชุมชนเพื่อเป็นของฝากแก่นักท่องเที่ยว กลุ่มศึกษาดูงาน ส่วนร้อยละ 12 ส่งจำหน่ายร้านค้าทั่วไปและห้างสรรพสินค้า และอีกร้อยละ 5 ออกบูธงานสำคัญของจังหวัด นอกจากนี้ ทางวิสาหกิจยังมีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ผ่านเพจ “ท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านโตนปาหนัน” และ “ชุมชนบ้านโตนปาหนัน” เพื่อขยายฐานลูกค้าและให้ผู้บริโภคทั่วประเทศสามารถเข้าถึงสินค้าได้สะดวก ง่าย รวดเร็ว ในยุค New Normal
            ผู้อำนวยการ สศท.9 กล่าวเพิ่มเติมว่า กาแฟนับเป็นพืชที่มีอนาคตสดใสของจังหวัดสตูล อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการพัฒนากาแฟโรบัสต้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรมีการฟื้นฟูต้นกาแฟที่มีอยู่เดิม ส่งเสริมการปลูกใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด และมีผลผลิตเพียงพอต่อการนำไปใช้สำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรที่สนใจ สำหรับการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกร ควรมีการเปิดรับสมาชิกคนรุ่นใหม่เพิ่ม เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมถึงภาครัฐสนับสนุนการขอรับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อเป็นที่เชื่อถือของผู้บริโภค สำหรับท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตของกาแฟโบราณ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายชาเร็ต  ใจดี ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านโตนปาหนัน ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล โทร 08 7298 9936  หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.9 โทร 0 7431 2996 หรืออีเมล zone9@oae.go.th
***********************************
ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา