ลุยแล้ว โครงการ SAS-PSA สศก. นำร่องพื้นที่แห่งแรกของไทย ปักหมุด ฉะเชิงเทรา 5 อำเภอ สำรวจพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน เดินหน้าสร้างความมั่นคงอาหารตามเป้า SDGs

ข่าวที่ 23/2564  วันที่ 17 มีนาคม 2564
ลุยแล้ว โครงการ SAS-PSA  สศก. นำร่องพื้นที่แห่งแรกของไทย  
ปักหมุด ฉะเชิงเทรา 5 อำเภอ สำรวจพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน เดินหน้าสร้างความมั่นคงอาหารตามเป้า SDGs
            วันนี้ (17 มีนาคม 2564) นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการนำร่องครั้งแรก ตามโครงการ Supporting Agricultural Survey on Promoting Sustainable Agriculture in ASEAN Region หรือ โครงการ SAS-PSA  ซึ่ง สศก. โดยสำนักงานเลขานุการ AFSIS หรือ ASEAN Food Security Information System ได้ร่วมกับ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการฯ เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการสำรวจการเกษตรแบบยั่งยืนตามตัวชี้วัดขององค์การสหประชาชาติ (UN)  SDGs 2.4.1 Proportion of Agricultural Area under Productive and Sustainable Agriculture ซึ่งหมายถึงสัดส่วนของเนื้อที่เกษตรที่ทำการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อเนื้อที่เกษตรทั้งหมด  รวมถึงใช้เป็นฐานข้อมูลให้แก่ภาครัฐ และผู้วางนโยบายด้านการเกษตร    
          การลงพื้นที่ในครั้งนี้ นับเป็นการนำร่องสำรวจครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการผลิตสินค้าเกษตรที่หลากหลาย ทั้งพืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ และประมง โดยคัดเลือกอำเภอที่มีจำนวนประชากรเกษตรมากที่สุด 5 อำเภอ ได้แก่ อ.พนมสารคาม (ต.บ้านช่อง) อ.สนามชัยเขต (ต.ท่ากระดาน) อ.บางน้ำเปรี้ยว (ต.หมอนทอง)  อ.เมืองฉะเชิงเทรา (ต.บางเตย) และ อ.บ้านโพธิ์ (ต.สิบเอ็ดศอก) รวมจำนวนเกษตรกรตัวอย่าง 240 ราย เพื่อเก็บข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2564 ซึ่งจะครอบคลุมการสำรวจทั้ง 3 มิติ ประกอบด้วย มิติด้านเศรษฐกิจ อาทิ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การเพาะปลูกพืช ผลผลิต มิติสิ่งแวดล้อม อาทิ ปัญหาในพื้นที่ การใช้ทรัพยากรดินและน้ำ การใช้ปุ๋ยและสารเคมี และ มิติทางสังคม อาทิ การใช้แรงงานภาคเกษตร การจ่ายค่าตอบแทน ปัญหาการขาดแคนอาหาร และการถือครองที่ดินของเกษตรกร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสำรวจถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 ที่เกษตรกรต้องพบเจอในช่วงของการแพร่ระบาดที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
          “จากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ระบุว่า ปัจจุบัน ไทยมีจำนวนผู้อดอยากหิวโหยอยู่ที่ร้อยละ 9 ซึ่งมีระดับความอดอยากหิวโหยมากกว่าร้อยละ 5 ที่ UN กำหนด ดังนั้น ไทยจะต้องรายผลความก้าวหน้าในการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน ตามตัวชี้วัด SDGs 2.4.1 ต่อ UN  ภายในปี 2573  โดยการลงพื้นที่นำร่องสำรวจในครั้งนี้ เราแบ่งทีมเป็น 7 สาย สำรวจทั้ง 5 อำเภอ ซึ่งผลสำรวจที่ได้จากการลงพื้นที่ จะวิเคราะห์ตามระเบียบวิธีของ FAO และที่สำคัญจะเป็นแนวทางหลักในการขยายผลการสำรวจให้ครอบคลุมทั่วประเทศในระยะต่อไป ซึ่งการรายงานผล จะรายงานในรูปแบบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรกรรม 3 รูปแบบ ได้แก่ ยั่งยืน ไม่ยั่งยืน และ ยอมรับได้  อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 โดยได้ผลักดันการดำเนินงานตามตัวชี้วัด SDGs 2.4.1 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 – 2563 ในการดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนรวมกว่า 4.38 ล้านไร่” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว
             ทั้งนี้ โครงการ SAS-PSA มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี 8 เดือน (26 มีนาคม 2563 – 25 พฤศจิกายน 2565) โดยนำร่องใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา และลาว โดยเริ่มที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ณ จังหวัด ฉะเชิงเทรา ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการสำรวจแล้ว จะสรุปผลการดำเนินการและนำเสนอร่างรายงานผลการสำรวจตามโครงการนำร่องสำรวจ (Pilot Survey) ตามตัวชี้วัด SGDs 2.4.1 ในส่วนของประเทศไทย ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 และจัดทำรายงานผลการสำรวจให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564 ก่อนเตรียมขยายผลการสำรวจให้ครอบคลุมทั่วประเทศในระยะต่อไป
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
 ข้อมูล : สำนักงานเลขานุการ AFSIS  ศูนย์สารสนเทศการเกษตร