เกษตรฯ แถลง ส่งออกสินค้าเกษตรไทย 6 เดือน พุ่ง 716,581 ล้านบาท ขณะที่โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ ในส่วนของการบริโภคสินค้าเกษตร 5 เดือน เสียหาย 13,895 ล้านบาท

ข่าวที่ 76/2564 วันที่ 9 สิงหาคม 2564
เกษตรฯ แถลง ส่งออกสินค้าเกษตรไทย 6 เดือน พุ่ง 716,581 ล้านบาท
ขณะที่โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ ในส่วนของการบริโภคสินค้าเกษตร 5 เดือน เสียหาย 13,895 ล้านบาท
          นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามในครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงและน่าจะยืดเยื้อซึ่งย่อมกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยง และยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้าลง โดยคาดว่าขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 (ข้อมูล ณ วันที่ 4   สิงหาคม 2564) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2  ปี 2564 สศก. พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่หดตัว  ถึงร้อยละ 3.1 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และช่วงต้นปี 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้มากขึ้น รวมทั้งสภาพอากาศโดยทั่วไปที่เอื้ออำนวย และไม่ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้สถานการณ์การผลิตพืชและปศุสัตว์ดีกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิต โดยแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งปี 2564 สศก. ยังคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 ตามเดิมที่คาดการณ์ไว้
           จากการวิเคราะห์ผลกระทบโควิด-19 พบว่า ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ โดยผลกระทบที่ได้รับมีสาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคต่อสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง  เพราะมาตรการ ที่ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การล็อคดาวน์ และการควบคุมพื้นที่การจำกัดเปิดร้านค้า และ ร้านอาหารต่าง ๆ โดยผลวิเคราะห์พบว่า กรณีโควิด-19 กระทบ 5 เดือน (เมษายน - สิงหาคม 2564) มูลค่าทางเศรษฐกิจการเกษตรในส่วนของการบริโภคสินค้าเกษตรในประเทศ จะลดลงรวมทั้งสิ้น 13,895 ล้านบาท  

           เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อสาขาการผลิตทางการเกษตร 5 อันดับแรก (กรณี 5 เดือน)  พบว่า สาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การทำสวนผัก มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 3,049 ล้านบาท รองลงมา คือ การทำสวนผลไม้ มูลค่าลดลง 2,061 ล้านบาท การทำนา มูลค่าลดลง 2,038 ล้านบาท การประมงทะเลและการประมงชายฝั่ง มูลค่าลดลง 1,007 ล้านบาท และการเลี้ยงสัตว์ปีก มูลค่าลดลง 908 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากโครงสร้างการบริโภคของประเทศไทย มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภค ผัก ผลไม้ และข้าว มากที่สุด
            อย่างไรก็ตาม แม้โควิด -19 จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่การส่งออกสินค้าเกษตรไทย ยังขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า จึงนับเป็นอีกแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ โดยเมื่อพิจารณาถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 (เดือนมกราคม-มิถุนายน) พบว่า มีมูลค่าอยู่ที่ 716,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 669,079 ล้านบาท หรือเพิ่มร้อยละ 7.1 สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สำคัญที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ สับปะรดและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันปาล์ม  ทั้งนี้ ตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป
           นอกจากนี้ ในอีกมุมหนึ่ง ภาคเกษตรยังเป็นภาคสำคัญที่รองรับการย้ายคืนถิ่นในช่วงการระบาดโควิด-19  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมือง และความรู้และเทคโนโลยี จึงถือเป็นการสร้างโอกาสการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรและเร่งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคให้เกิดขึ้นจริงได้ เพราะกลุ่มแรงงานคืนถิ่นรุ่นใหม่กลุ่มนี้ จะเพื่อเป็นกำลังสำคัญ ทั้งการสร้างมูลค่าใหม่ทางการเกษตร (มูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปเกษตรอย่างง่าย) รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ อย่างไรก็ตาม แรงงานย้ายคืนถิ่นภาคเกษตรอาจเป็นกลุ่มรายได้น้อย ลูกจ้างรายวัน ทำงานในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร และการตัดสินใจกลับภูมิลำเนาเพื่อความอยู่รอด บางกลุ่มจึงอาจต้องการมีทักษะการให้ความรู้ การฝึกอบรม และช่องทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งพัฒนาและแชร์ข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ระหว่างกันเพื่อช่วยวางแผนพัฒนาภาคเกษตรในทุกมิติ
           ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมแนวทางดำเนินนโยบายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ตลอดจนผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนาและปรับทักษะแรงงาน (upskill/reskill) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล (Smart Farm) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับปัจจัยลบต่าง ๆ  ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ (economic shocks) ในอนาคตได้ดีขึ้น
 
*******************************************
ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ และ กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร