เฉลิมชัย จับมือ คปภ. MOU พัฒนาประกันภัยการเกษตร ชูแนวทาง ‘สร้าง เสริม ยก’ ลดความเสี่ยงผลผลิต อัพเกรดคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

ข่าวที่ 125/2564  วันที่ 22 ธันวาคม 2564
เฉลิมชัย จับมือ คปภ. MOU พัฒนาประกันภัยการเกษตร
ชูแนวทาง ‘สร้าง เสริม ยก’ ลดความเสี่ยงผลผลิต อัพเกรดคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย
 
          วันนี้ (22 ธันวาคม 2564) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตรระหว่าง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  โดยมีนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นผู้ลงนาม ณ ห้อง 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Meeting ในครั้งนี้ด้วย
              โอกาสนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวแสดงความยินดี ถึงความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ในครั้งนี้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะสร้างความมั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรไทยมาโดยตลอด ซึ่งแม้เกษตรกรต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความผันผวนของราคา ความไม่แน่นอนของตลาด รวมไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินนโยบายเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมไปถึงพัฒนารูปแบบและคุณภาพให้ตรงกับความต้องการของตลาด ควบคู่ไปนโยบายประกันรายได้เกษตรกรและโครงการประกันภัยสินค้าเกษตรที่สำคัญ เพื่อช่วยให้เกษตรกรกว่า 7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 30 ล้านราย มีรายได้ที่แน่นอนและมั่นคง สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรม อันเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไปได้ ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังต้องเผชิญรอบด้าน
            “ผมมีความยินดีที่ทั้ง 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้จับมือกัน นำความรู้ ความชำนาญ และความเชี่ยวชาญสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตร ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น และโอกาสที่ดีที่จะร่วมกัน ในการพัฒนาระบบประกันภัยสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน ออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้การประกันภัยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตร ถือเป็นการต่อยอดจากนโยบายที่ได้ดำเนินอยู่เดิม ซึ่งล้วนเป็นความมุ่งมั่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะ “สร้าง เสริม ยก” ไปด้วยกัน นั่นหมายถึง สร้างความเข้มแข็ง เสริมภูมิคุ้มกัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยความมั่นคงเพราะภาคเกษตรกรรม คือรากฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
             ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า  สศก. มีความประสงค์ที่จะขยายขอบเขตของการประกันภัยในปัจจุบันไปสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ ดูแล และคุ้มครองพี่น้องเกษตรกรไทย นอกเหนือไปจากข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจ พืชรอง หรือสินค้าเกษตรที่มีอนาคตทางการตลาดสูง รวมถึงต่อยอดกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าเกษตรที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว  (ทุเรียน ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ต้นไม้ โคเนื้อ และโคนม รวมไปถึงกัญชาในอนาคต) โดย สศก. จะร่วมกับ คปภ. ดำเนินการภายใต้ “คณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตร” เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางในการดำเนินการ สร้างทีมงานร่วมมือทางด้านวิชาการ คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ โดยศึกษาข้อมูล อย่างครอบคลุม ครบทุกมิติความเสี่ยง ทั้งความผันผวนของปริมาณผลผลิต ราคา ตลาด และความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการคุ้มครองความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ หันมาใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทางการเงินของตนเอง
           ขณะที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กล่าวว่า ความร่วมมือกับ สศก. ในวันนี้ นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่ง ที่จะผลักดันประกันภัยด้านการเกษตร ให้ประสบผลสำเร็จ และบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตรของเกษตรกรแบบครบวงจร สร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา คปภ. ได้ให้ความสำคัญ และส่งเสริมการประกันภัยด้านการเกษตร มาอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนภาคธุรกิจประกันภัย ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การประกันภัยข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้ง ตลอดจนต่อยอดไปยังพืชผลชนิดอื่น ๆ ให้กับเกษตรกร และพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตามภูมิภาคหรือพื้นที่เฉพาะ เช่น การประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ การประกันภัยประมง เป็นต้น อีกทั้ง คปภ. ได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยเพื่อยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่นเพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โรคระบาด หรือ ภัยธรรมชาติ เป็นต้น
 
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร