เลี้ยง ‘แพะขุน’ หนึ่งอาชีพปศุสัตว์เลี้ยงง่าย ทนทาน ตลาดต้องการ

ข่าวที่  9/2565  วันที่ 20 มกราคม 2565
เลี้ยง ‘แพะขุน’ หนึ่งอาชีพปศุสัตว์เลี้ยงง่าย ทนทาน ตลาดต้องการ
นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะให้ยั่งยืน มีผลผลิตที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการบริโภค การตลาด และการแปรรูป รวมถึงส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ ซึ่ง “แพะขุน” นับเป็นสินค้าปศุสัตว์ทางเลือกที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ปัจจุบันได้รับความนิยมเลี้ยงในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สำหรับการค้าและบริโภค เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ทนทานต่อทุกสภาพภูมิอากาศใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย และให้ผลตอบแทนเร็ว
            ปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งผลิตแพะที่สำคัญรองจากภาคใต้และภาคกลาง โดยพบการเลี้ยงมากในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยปี 2564 (ข้อมูลสำนักงาน ปศุสัตว์จังหวัด ณ วันที่ 17 มกราคม 2565) มีการเลี้ยงแพะเนื้อ รวม 4 จังหวัด 160,146 ตัว เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 86,118 ตัว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 86) เกษตรกรผู้เลี้ยง 6,583 ราย โดยในปีงบประมาณ 2564 คณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย หน่วยงาน องค์กรภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เล็งเห็นความสำคัญและได้กำหนดแผนปฏิบัติราชการการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงแพะเนื้อภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมเกษตรและอาหารปลอดภัยกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์คุณภาพสูง และพัฒนาการเลี้ยง สัตว์ให้มีคุณภาพ และมาตรฐานรองรับตลาดระดับสูง  
            ในการนี้  สศท.5 ได้ศึกษาวิจัยการผลิตและการตลาดแพะขุนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงแพะเนื้อมากที่สุด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 โดยมีแพะเนื้อจำนวน 103,612 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 65 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1) และมีเกษตรกรผู้เลี้ยง 3,765 ราย (คิดเป็นร้อยละ 57 ของของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1) เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงแพะพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพื่อผลิตลูกแพะสำหรับขุนเอง หากเป็นลูกแพะเพศเมียจะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นแม่พันธุ์ ส่วนเพศผู้เกษตรกรจะขุนเพื่อจำหน่ายให้กับพ่อค้า สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เป็นของตนเอง หรือผลิตลูกแพะได้ไม่เพียงพอ ต้องซื้อลูกแพะสำหรับขุนจากพ่อค้า โดยอาหารที่ใช้เลี้ยงแพะขุนส่วนใหญ่ คือ ต้นกระถิน ซึ่งหาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยน้ำหนักแพะขุนที่เกษตรกรนิยมจำหน่าย คือ ไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ตัว เนื่องจากได้รับราคาสูง และใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนความรู้ด้านการผลิต เช่น การคัดเลือกและผลิตสายพันธุ์แพะเนื้อ การป้องกันและรักษาโรค และการบริหารจัดการฟาร์ม เป็นต้น 
            สำหรับต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตแพะขุนของจังหวัดนครราชสีมา พบว่า มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 1,416 บาท/ตัว หรือ 64 บาท/กิโลกรัม โดยแม่พันธุ์ 1 ตัว โดยใน 1 ปี แม่พันธุ์สามารถให้ลูกได้ 1-2 รุ่น (รุ่นละ 1-2 ตัว) สำหรับแพะเพศเมีย จะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือน และให้ลูกประมาณ 5 ปี จึงปลดระวาง ซึ่งเกษตรกรเลี้ยงแพะขุนได้ประมาณ 4 เดือน ก็สามารถจำหน่ายให้กับพ่อค้าได้ ในราคาเฉลี่ย 2,151 บาท/ตัว หรือ 98 บาท/กิโลกรัม (น้ำหนักเฉลี่ย 22 กิโลกรัม/ตัว) คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 735 บาท/ตัว หรือ 33 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีรายได้จากการจำหน่ายมูลแพะเฉลี่ย 10 บาท/ตัว
            สำหรับสถานการณ์ตลาดแพะขุน เกษตรกรจะจำหน่ายให้กับผู้รวบรวมในจังหวัด และพ่อค้าต่างจังหวัดซึ่งผู้ซื้อจะเป็นผู้ขนส่งแพะขุนและรับภาระค่าขนส่งทั้งหมด สำหรับผู้รวบรวมในจังหวัด เมื่อรวบรวมแพะขุนมีชีวิตจากเกษตรกรจะจำหน่ายต่อให้กับพ่อค้าจากต่างจังหวัด และต่างประเทศ โดยผู้ซื้อจะนำรถมาขนส่งแพะขุน มีชีวิตที่คอกพัก หรือจุดนัดหมายในพื้นที่ และเป็นผู้รับภาระค่าขนส่งทั้งหมด ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 74 จำหน่ายแพะขุนมีชีวิตให้ผู้รวบรวมในจังหวัด และร้อยละ 26 จำหน่ายพ่อค้าต่างจังหวัด ทั้งนี้ ผู้รวบรวมในจังหวัดจะจำหน่ายแพะขุนต่อให้กับพ่อค้าต่างจังหวัด ร้อยละ 61 ส่วนอีกร้อยละ 13 จำหน่ายให้กับพ่อค้าจากประเทศเวียดนาม
            “อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ราคาจำหน่าย แพะขุนต่ำกว่าปีที่ผ่านมาแต่ปริมาณการผลิตแพะขุนของเกษตรกรยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด อีกทั้งความต้องการของตลาดแพะขุนยังมีมาก  ที่สำคัญแพะขุนเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย โตไว ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย ไม่ต้องจ้างแรงงานภายนอก เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เองในครัวเรือน รวมถึงมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ จึงนับว่าการเลี้ยงแพะขุน เป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน สามารถทำได้เป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม  หากท่านใดที่สนใจข้อมูลเชิงลึกของผลการวิจัย สศท.5 ได้ทำการศึกษาการผลิต และการตลาดแพะขุนของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 โทร. 0 4446 5120 หรืออีเมล zone5@oae.go.th" ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวทิ้งท้าย
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา