3 จังหวัดแหล่งผลิตหอมหัวใหญ่ เชียงใหม่-เชียงราย-แม่ฮ่องสอน ปีนี้ ให้ผลผลิตรวมกว่า 3.5 หมื่นตัน สศท.1 ระบุ ก.พ. – มี.ค. ผลผลิตออกมาก ชวนร่วมอุดหนุนเกษตรกร บริโภคหอมหัวใหญ่ไทย

ข่าวที่ 11/2565  วันที่ 21  มกราคม 2565
3 จังหวัดแหล่งผลิตหอมหัวใหญ่ เชียงใหม่-เชียงราย-แม่ฮ่องสอน ปีนี้ ให้ผลผลิตรวมกว่า 3.5 หมื่นตัน  
สศท.1 ระบุ ก.พ. – มี.ค. ผลผลิตออกมาก ชวนร่วมอุดหนุนเกษตรกร บริโภคหอมหัวใหญ่ไทย
                นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตหอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2564/65 ในพื้นที่รับผิดชอบของ สศท.1 ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีพื้นที่ปลูกหอมหัวใหญ่คิดเป็นร้อยละ 95 ของเนื้อที่เพาะปลูกหอมหัวใหญ่ทั้งประเทศ  โดยปีเพาะปลูก 2564/65 (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2565) คาดว่ามีเนื้อเพาะปลูกรวม 3 จังหวัด  8,606 ไร่  เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 8,328 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3)  เนื่องจากไม่ได้รับความเสียหายจากพายุฝน ทำให้เกษตรกรเพาะต้นกล้าพันธุ์ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา สามารถขยายเนื้อที่เพาะปลูกได้มากขึ้น  ด้านผลผลิต คาดว่าจะมีปริมาณรวม 35,044 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณ 32,740 ตัน  (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7)  เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น  ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของหอมหัวใหญ่ได้ดี คาดว่าไม่มีฝนตกในช่วงการเก็บเกี่ยว 
               สำหรับการเพาะปลูกหอมหัวใหญ่ ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรเพาะปลูกหอมหัวใหญ่ ทั้ง 3 จังหวัด (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2565) รวม 3,765 ราย เกษตรกรจะเริ่มทยอยปลูกในเดือนกรกฎาคม - พฤศจิกายน (ระยะเวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 3 เดือนนับจากวันเพาะปลูก) โดยผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2564 ไปจนถึงเดือนเมษายน 2565  ทั้งนี้ ผลผลิตจะเริ่มออกมากตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (ร้อยละ 28 ของผลผลิตทั้งหมด) และจะออกมากสุดในเดือนมีนาคม (ร้อยละ 53 ของผลผลิตทั้งหมด) โดยราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย (ราคา ณ เดือนมกราคม 2565) 13 บาท/กก. ทั้งนี้ ด้านการส่งออก ไทยมีการส่งออกทั้งในรูปแบบหอมหัวใหญ่สด และหอมหัวใหญ่แห้ง ไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญ ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินเดีย เป็นต้น
             จากการติดตามสถานการณ์ด้านการผลิตหอมหัวใหญ่ จำนวน 5 กลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ จะเห็นได้ว่าภาพรวมผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี และบางกลุ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ กลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ผาตั้ง จ.เชียงราย ได้เก็บเกี่ยวผลิตเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ในช่วงที่เกษตรกรกำลังทยอยระบายผลผลิตออกสู่ตลาด โดยราคาขายอยู่ที่ 11-15 บาท/กิโลกรัม ส่วนกลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่อำเภอแม่วาง จ.เชียงใหม่ หอมหัวใหญ่อยู่ในระยะการเจริญเติบโต และประมาณร้อยละ 5 เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว คาดว่า ปริมาณผลผลิตปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ กลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่อำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ หอมหัวใหญ่อยู่ในระยะการเจริญเติบโต อย่างไรก็ตาม เริ่มพบปัญหาหอมเป็นเชื้อรา ซึ่งมีสาเหตุจากสภาพอากาศหนาว และมีหมอกลง  กลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่บ้านกาดพัฒนา จ.เชียงใหม่ หอมหัวใหญ่อยู่ในระยะการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้คาดว่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา และกลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่อำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ หอมหัวใหญ่อยู่ในระยะการเจริญเติบโตโดยคาดว่าจะได้ผลผลิตดีเช่นกัน
               สำหรับแนวทางบริหารจัดการหอมหัวใหญ่ ทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะมีการกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้สินค้ากระจุกตัว เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรักษาเพื่อยืดอายุสินค้าให้ยาวขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหอมหัวใหญ่ โดยกำหนดพื้นที่เหมาะสมในการปลูกหอมหัวใหญ่ จัดหาแหล่งน้ำหรือจัดระบบชลประทาน ลดต้นทุนการผลิตสนับสนุนและหาแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร ส่งเสริมการจำหน่ายโดยส่งเสริมให้เกษตรกรคัดคุณภาพ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลผลิต
             “ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ซึ่งจะเริ่มมีผลผลิตหอมหัวใหญ่ในภาคเหนือออกมาจำนวนมาก จึงอยาก ขอเชิญชวนทุกท่าน หันมาอุดหนุนและบริโภคหอมหัวใหญ่ที่ผลิตโดยเกษตรกรไทยให้มากขึ้น เพราะหอมหัวใหญ่ที่ผลิตในประเทศนั้น  มีรสชาติหวานนุ่ม กลิ่นไม่ค่อยฉุน เนื้อสัมผัสค่อนข้างหนาและแน่นกรอบ มีคุณภาพที่ดี ปลอดภัย ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีรายได้ที่ดี มีความมั่นคงยิ่งขึ้นอีกด้วย” ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าว
************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่