สศท.2 เผยผลศึกษา ‘ห้อม’ สินค้าพื้นถิ่น จ.แพร่ สร้างรายได้เกษตรกร มุ่งขับเคลื่อน ห้อมแพร่สู่ห้อมโลก

ข่าวที่ 106/2564  วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564
สศท.2 เผยผลศึกษา ‘ห้อม’ สินค้าพื้นถิ่น จ.แพร่ สร้างรายได้เกษตรกร มุ่งขับเคลื่อน ห้อมแพร่สู่ห้อมโลก
          นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ห้อม” เป็นสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นของจังหวัดแพร่ โดยจังหวัดได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน “ห้อมแพร่สู่ห้อมโลก” จึงมีแนวทางในการดำเนินการ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านส่งเสริมการปลูก ด้านการผลิตและแปรรูป ด้านการตลาด และด้านการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ห้อมแพร่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศภายในปี 2567 ปัจจุบันจังหวัดแพร่เป็นแหล่งผลิตห้อมที่สำคัญอันดับ 1 ของภาคเหนือ เนื่องจากห้อมเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ปลูกที่มีอากาศหนาวเย็น ความชื้นสูง แสงรำไร และใกล้แหล่งน้ำ สำหรับห้อมเป็นพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการย้อมผ้าหม้อห้อม โดยย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งไม่ทำให้เกิดผู้สวมใส่เกิดอาการแพ้โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้  และเมื่อนำห้อมเปียกมาย้อมเป็นผ้าจะมีกลิ่นหอม สีเป็นสีธรรมชาติ มีสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถช่วยปรับสมดุลของร่างกาย นอกจากนี้ ห้อมยังเป็นสมุนไพร ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการบรรเทาไข้ได้ด้วย
          ด้านสถานการณ์ผลิตห้อมของจังหวัดแพร่ ปี 2564 พบว่า มีเนื้อที่ปลูกห้อมรวม 38 ไร่ (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ณ เดือนตุลาคม 2564) ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองแพร่ อำเภอสอง อำเภอร้องกวาง อำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย อำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น มีเกษตรกรผู้ปลูกทั้งแบบรายเดี่ยว จำนวน 185 ราย และการรวมกลุ่มผลิตในรูปของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 5 กลุ่ม เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกห้อมพันธุ์ชนิดใบใหญ่และใบเล็ก เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่และจากโครงการพระราชดำริฯ และมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมถึงเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ของ สศท.2 เพื่อศึกษาต้นทุนผลิตและผลตอบแทนการผลิตห้อมของเกษตรกรจังหวัดแพร่ โดยจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่อำเภอเมืองแพร่ และอำเภอร้องกวาง ได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกห้อม จำนวน 85 ราย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการผลิตห้อม จำนวน 5 กลุ่ม ซึ่งผลการศึกษา พบว่า เกษตรกรสามารถปลูกห้อมได้ตลอดทั้งปี โดยห้อมมีอายุยืนต้นตั้งแต่ปลูกจนถึงแห้งตายเฉลี่ยประมาณ 4 - 6 ปี เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่ออายุประมาณ 4 – 7 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3 – 4 ครั้ง/ปี สำหรับฤดูการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมอยู่ในช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ของทุกปี ให้ผลผลิตใบห้อมสดเฉลี่ย 338 กิโลกรัม/ไร่/ปี มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,235 บาท/ไร่/ปี เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 7,140 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 2,905 บาท/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายใบห้อมสด ณ เดือนตุลาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 20 – 21 บาท/กิโลกรัม
            ด้านสถานการณ์ตลาด พบว่า ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 96 เกษตรกรจำหน่ายใบห้อมสดให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งทางกลุ่มจะนำผลผลิตเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเนื้อห้อมหรือห้อมเปียก แล้วจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการเพื่อผลิตเป็นน้ำย้อมเส้นด้าย สำหรับนำไปทอผ้าและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป อาทิ เสื้อผ้า ผ้าพันคอ หมวก เป็นต้น ส่วนผลผลิตที่เหลือร้อยละ 4 เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าในพื้นที่ซึ่งมารับผลผลิตถึงที่สวน
           ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการผลิตห้อมให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานและตรงกับความต้องการของตลาด โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ควรสนับสนุนองค์ความรู้ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตห้อมในพื้นที่ให้ได้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถผลิตวัตถุดิบเนื้อห้อมที่นำมาใช้ย้อมผ้าหม้อห้อมได้มากขึ้น รวมถึงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ ร้านค้าสหกรณ์ชุมชน เพิ่มช่องทางการจำหน่าย และการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนการมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญ ที่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ห้อมแพร่สู่ห้อมโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ หากท่านสนใจรายละเอียดผลการศึกษาเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร 0 5532 2650 และ 0 5532 2658 หรือ อีเมล์ zone2@oae.go.th   
                                           ******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก