สศท.10 ติดตามสถานการณ์แพะเนื้อภาคตะวันตก เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคปากและเท้าเปื่อย ระบาดช่วงฤดูหนาว

ข่าวที่ 108/2564  วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564
สศท.10 ติดตามสถานการณ์แพะเนื้อภาคตะวันตก เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคปากและเท้าเปื่อย ระบาดช่วงฤดูหนาว
              นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การผลิตแพะเนื้อภาคตะวันตก ปี 2564 ในเขตพื้นที่ 7 จังหวัด (กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์) พบว่า ภาคตะวันตกเป็นแหล่งผลิตแพะเนื้อที่สำคัญอันดับ 2 ของประเทศ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศมีความชื้นต่ำ เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงแพะเนื้อ ส่งผลให้แพะเจริญเติบโตได้ดี โดยในปี 2564 ภาคตะวันตกในเขตพื้นที่ 7 จังหวัด (ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ณ เดือนกันยายน 2564) มีการเลี้ยงแพะเนื้อ จำนวน 216,960 ตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวน 155,651 ตัว (เพิ่มขึ้น 61,309 ตัว หรือร้อยละ 39) เนื่องจากเกษตรกรมีการเลี้ยงแพะเพื่อเป็นอาชีพเสริมมากขึ้น เพราะแพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย กินอาหารได้หลากหลายที่มีในท้องถิ่น ใช้เวลาเลี้ยงไม่มาก ใช้พื้นที่น้อย และมีตลาดรองรับที่แน่นอน ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญ คือ จังหวัดนราธิวาส
              จากการติดตาม พบว่า พื้นที่การเลี้ยงแพะเนื้อส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี เกษตรกรนิยมเลี้ยงสายพันธุ์ลูกผสมบอร์ เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว และเป็นที่นิยมของตลาด การเลี้ยงแพะเนื้อมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,322 บาท/ตัว แยกเป็นค่าพันธุ์สัตว์ 2,175 บาท ค่าแรงงาน 231 บาท ค่าอาหาร 102 บาท และส่วนที่เหลือ 814 บาท เป็นค่ายา ป้องกันโรค ค่าเวชภัณฑ์ ค่าเสื่อมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยแม่พันธุ์ 1 ตัว ให้ผลผลิตลูกแพะ 1 – 2 ตัว/รุ่น สำหรับแพะเพศเมีย จะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 7 – 8 เดือน มีระยะเวลาการตั้งท้อง 5 เดือน พักท้อง 3 – 4 เดือน ส่วนแพะเพศผู้ จะเริ่มผสมพันธุ์ตอนอายุประมาณ 10 – 12 เดือน หลังจากนั้น 2-3 ปี จะทำการปลดระวางหรือจำหน่ายให้กับฟาร์มอื่นเพื่อป้องกันการเกิดกรณีเลือดชิดซึ่งแพะจะมีอายุเฉลี่ย 15 ปี เกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะเนื้ออายุเฉลี่ย 6 – 7 เดือน ในราคา 4,543 บาท/ตัว หรือ 144 บาท/กิโลกรัม (น้ำหนักเฉลี่ย 31.58 กิโลกรัม/ตัว) เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 1,222 บาท/ตัว นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มด้วยการนำมูลแพะมาจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 1 – 2 บาท
            สำหรับสถานการณ์ด้านตลาด พบว่า การจำหน่ายแพะเนื้อส่วนใหญ่ ร้อยละ 84 เกษตรกรส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้ารายใหญ่จังหวัดนราธิวาส ) ผลผลิตร้อยละ 8 ส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดสกลนครและหนองคาย ซึ่งจะส่งต่อไปยังตลาดปลายทางใน สปป.ลาว ส่วนผลผลิตร้อยละ 5 เกษตรกรในพื้นที่นำไปขยายพันธุ์ต่อ และที่เหลืออีกร้อยละ 3 บริโภค ในครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลให้ราคามีการปรับตัวลงบ้างเล็กน้อย แต่คาดว่าหลังการเปิดประเทศสถานการณ์ตลาดแพะเนื้อภาคตะวันตกจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น
            ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวทิ้งท้ายว่า แพะเนื้อเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้เร็วและใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น ส่งผลให้เกษตรกร มีรายได้หมุนเวียนตลอดปี และให้ผลตอนแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งปัจจุบันตลาดยังมีความต้องการแพะเนื้อเป็นจำนวนมาก จึงนับเป็นอีกหนึ่งสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งนี้ เพื่อให้ผลผลิตแพะเนื้อมีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด ในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว เกษตรกรควรดูแพะให้มีสุขภาพแข็งแรง จัดการโรงเรือนหรือคอกให้มีสุขลักษณะที่ดี และควรเฝ้าระวังโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งมักระบาดในช่วงนี้ (พฤศจิกายน - ธันวาคม) โดยเกษตรกรสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยแพะทุก 6 เดือน หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตและตลาดแพะเนื้อในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันตก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 ราชบุรี โทร 0 3233 7954 หรืออีเมล zone10@oae.go.th
           
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี