เกษตรกรเมืองพัทลุง ดึงเทคโนโลยีร่วมผลิตข้าวสังข์หยด เพิ่มผลผลิต ประหยัดเวลา คุณภาพดีมีมาตรฐาน

ข่าวที่ 102/2565  วันที่ 28 กันยายน 2565
เกษตรกรเมืองพัทลุง ดึงเทคโนโลยีร่วมผลิตข้าวสังข์หยด เพิ่มผลผลิต ประหยัดเวลา คุณภาพดีมีมาตรฐาน
          นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” ถือเป็นข้าวพื้นเมือง ปลูกในฤดูนาปีในเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุง ชาวพัทลุงปลูกข้าวสังข์หยดไว้เป็นข้าวสำหรับเทศกาลพิเศษเพื่อเป็นสิริมงคล ซึ่งปัจจุบันข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง 2565) มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 19,655 ไร่ ผลผลิตรวม 7,976 ตัน/ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 402 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 4,137 ราย มีพื้นที่ปลูกรวม 11 อำเภอ แหล่งปลูกสำคัญ 3 อำเภอแรก ได้แก่ อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน และอำเภอป่าบอน
          สำหรับข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา วันที่ 23 มิถุนายน 2549 ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์แรกของไทยและของโลก เป็นความภาคภูมิใจของชาวนาเมืองพัทลุง โดยปี 2565 มีเกษตรกรที่ได้รับ GI จำนวน 102 ราย พื้นที่ปลูกรวม 632 ไร่ และมีผู้ประกอบการข้าวสังข์หยดที่ได้การรับรองให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI จำนวน 6 ราย ทั้งนี้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง มีคุณลักษณะพิเศษคือ เป็นพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ข้าวกล้องเมื่อหุงสุกนุ่มเล็กน้อย ส่วนข้าวซ้อมมือเมื่อหุงสุกนุ่ม เกษตรกรจะปลูกช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน ของทุกปี และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป
          สศท.9 ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง GI โดยลงพื้นที่ศึกษาเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างที่นำเทคโนโลยีเครื่องพ่นเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยมาใช้ในการผลิตข้าว จำนวน 29 ราย กับเกษตรกรที่ไม่มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าว จำนวน 33 ราย ในพื้นที่อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน และอำเภอเมืองพัทลุง พบว่า เกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องพ่นเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ย เกิดประสิทธิภาพการผลิตที่ดีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น สามารถให้เมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยกระจายทั่วถึงพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งสามารถควบคุมปริมาณการใช้และประหยัดเวลา ซึ่งผลสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรได้ผลผลิตรวม 924 ตัน/ปี หรือ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 389 กิโลกรัม/ไร่/ปี ในขณะที่เกษตรกรที่ไม่มีการใช้เทคโนโลยีเครื่องพ่นเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ย ได้ผลผลิตรวม 695 ตัน/ปี หรือได้ผลผลิตเฉลี่ย 345 กิโลกรัม/ไร่/ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องพ่นในการผลิตข้าวจะมีผลผลิตต่อไร่มากกว่าร้อยละ 11
          ด้านราคาขายข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง GI ราคาเฉลี่ยปี 2564 ความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา เฉลี่ยอยู่ที่ 18 บาท/กิโลกรัม ในส่วนของการแปรรูปเป็นข้าวซ้อมมือบรรจุถุง (ขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม) ราคาเฉลี่ย 40 - 50 บาท/ถุง ข้าวกล้องบรรจุถุง (ขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม) ราคาเฉลี่ย 50 – 55 บาท/ถุง หากต้องการข้าวที่บรรจุถุงสุญญากาศราคาข้าวจะเพิ่มกิโลกรัมละ 10 บาท ด้านสถานการณ์ตลาด ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง (GI) ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 63 จำหน่ายให้กับกลุ่มข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ผลผลิตร้อยละ 15 จำหน่ายให้กับโรงสี ผลผลิตร้อยละ 15 เก็บไว้บริโภคในครัวเรือนและเป็นเมล็ดพันธุ์ และผลผลิตอีกร้อยละ 7 จำหน่ายในรูปแบบข้าวให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง
          “กระแสความนิยมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพ ปลอดภัยจากสารพิษมีมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคระดับกลางถึงระดับสูง ทำให้การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพออกสู่ท้องตลาด มากขึ้น ข้าวสังข์หยดเป็นหนึ่งหลาย ๆ สินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะข้าวซ้อมมือ และข้าวกล้อง รวมถึงการเพิ่มมูลค่าจากข้าวสังข์หยด ส่งเสริมให้ผู้ผลิตแปรรูปในท้องถิ่นรักษามาตรฐานสินค้า ส่งเสริมอุตสาหกรรมในท้องถิ่น กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน อีกทั้งยังสร้างชื่อให้แก่ชุมชน จังหวัด ตลอดจนรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของพัทลุง หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิต ต้นทุนและผลตอบแทนของข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง GI สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สศท.9 โทร 0 7431 2996 หรืออีเมล zone9@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.9 กล่าวทิ้งท้าย
                                           ******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา